หมวดหมู่: ประชาสัมพันธ์
โรคหูดับ
“โรคหูดับ” (Sudden Hearing Loss SHL) คือการได้ยินเสียงน้อยลงหรือไม่ได้ยินเสียงเลย อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ถือเป็นภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน
โรคหูดับ หมายถึง ระดับการได้ยินลดลงมากกว่า 70 เดซิเบล เป็นเวลานานเกินกว่า 72 ชั่วโมง แต่อาการจะปรากฏเด่นชัดในช่วง 2 – 3 ชั่วโมแรก รุนแรงมากน้อยต่างกัน และระดับเสียงที่ไม่ได้ยินอาจเป็นระดับเสียงที่ความดังเท่าใดก็ได้ อาการของโรคหูดับอาจเป็นเพียงแค่ชั่วคราวหรือเกิดขี้นได้อย่างถาวร
อาการของโรค
ผู้ป่วยหนึ่งในสามมักจะมีอาการหูดับในช่วงเช้า โดยเฉพาะหลังตื่นนอนใหม่ ๆ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนหัว อาเจียน บ้านหมุน และมีเสียงดังในหูร่วมด้วย
สาเหตุ
1. โรคหูดับ หรือเส้นประสาทหูเสื่อม สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 60 โดยสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำเหลืองในปฏิบัติการ ไวรัสที่เป็นสาเหตุได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza type B) ซัยโตเมกาโลไวรัส (CMV) ไวรัสคางทูม (mumps) รูบิโอลา (rubeola) ไวรัสสุกใส – งูสวัด (varicella – zoster) ซึ่งไวรัสเหล่านี้จะไปทำให้หูชั้นในอักเสบได้
2. โรคหูดับเกิดจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พค็อกคัสซูอิส ปนเปื้อนอยู่ เช่น ลาบดิบ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกที่ปรุงโดยใช้เลือดดิบ เป็นต้น
3. โรคหูดับเกิดจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงฟ้าผ่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายเป็นโรคหูดับเพราะความเครียด ไม่ได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อดหลับอดนอนเพราะโหมงานหนักมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหูดับได้เช่นกัน
4. โรคหูดับเกิดจากการผิดปกติของเลือด เป็นโรคหลอดเลือด เช่น ความดันสูง การไหลเวียนกระแสโลหิตบกพร่อง หลอดเลือดอักเสบหรืออุดตัน การติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย การฉีกขาดของเยื่อปิดหน้าต่างของหูชั้นในซึ่งเกิดจากการไอ จามรุนแรง การผ่าตัดหู หรือความผิดปกติทางฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์ จากการผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน รวมทั้งการได้รับแรงกระทบกระแทกของศีรษะ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี “โรคหูดับเฉียบพลัน” (Sudden Sensorineural Hearing Loss) ที่อยู่ ๆ ผู้ป่วยเกิดไม่ได้ยินเสียงขึ้นมาเฉย ๆ จนหูดับไปจนเกือบไม่ได้ยินเลยในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งอาการหูดับเฉียบพลันนี้ อาจเกิดจากเนื้องอกของประสาทสมองที่ 8 กดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
การป้องกัน
การป้องกันโรคหูดับที่ดีที่สุดคือ ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อไม่ให้เชื้อ “สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส” เข้าสู่ร่างกายได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น ไม่ควรเปิดเพลงจากเครื่องเล่น MP3 ในระดับเสียงที่ดังจนเกินไป หรือฟังเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน และควรหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังมากๆ
โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก คือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกีซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายจะกัดคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อนแล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียงก็จะเป็นการแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไป
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก มักติดต่อจากคนไปสู่คน ซึ่งมียุงลายเป็นตัวพาหะที่สำคัญ (Aedes aegypt) โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงลาย ทำให้มีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวของยุงตลอดระยะเวลาของมันประมาณ 1 – 2 เดือน แล้วถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดได้ ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน มักออกกัดเวลากลางวัน มีแหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำนิ่งที่ขังอยู่ในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ อาทิ โอ่ง แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ ยางรถยนต์ หรือกระถาง เป็นต้น
โรคไข้เลือดออก พบโดยมากในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูนี้เด็กๆ มักจะอยู่บ้านมากกว่าฤดูอื่นๆ อีกทั้งยุงลายยังมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพฯ อาจพบโรคไข้เลือดออกนี้ได้ตลอดทั้งปี
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลันและไข้จะสูงลอยตลอดเวลาอยู่ประมาณ 2-7 วัน กินยาลดไข้ ไข้มักจะไม่ลด หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร อาเจียน ซึม บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวาหรือปวดท้องทั่วไป และอาจมีท้องผูกหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ส่วนมากมักไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลหรือไอมากแต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงและไอเล็กน้อยประมาณวันที่ 3 อาจมีผื่นแดง ไม่คันขึ้นตามแขนขาและลำตัวอยู่ประมาณ 2-3 วัน บางรายอาจมีจ้ำเขียวหรือจุดเลือดออกเกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ขึ้นตามหน้า แขนขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก และอาจคลำพบตับโตกดเจ็บเกิดขึ้นได้ ในระยะนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะปรากฏอาการระยะที่ 2 ต่อไป
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก อาการมักจะเกิดช่วงวันที่ 3 – 7 ของโรคซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤต โดยอาการไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วแต่ผู้ป่วยมักมีอาการทรุดหนักและมีภาวะช็อกเกิดขึ้น คือ กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ความดันเลือดต่ำ ซึม นอกจากนี้อาจมีเลือดออกตามผิวหนังหรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น เลือดกำเดาไหล อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24 – 48 ชม. ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว ในรายที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที ภาวะช็อกไม่รุนแรงอาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น และอาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น คือ เริ่มรับประทานอาหารได้ ลุกนั่งได้ และร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 2-3 วัน รวมระยะเวลาของโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน
การรักษาโรคไข้เลือดออก
การรักษา โรคไข้เลือดออก นั้นยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะตัวสำหรับกำจัดเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำมากที่สุด ในขั้นแรกเมื่อมีไข้สูงจะให้ยาพาราเซตามอล ห้ามให้ใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อย รวมถึงสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อคได้ ซึ่งภาวะช็อคส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ไข้ลด ผู้ปกครองควรทราบอาการ ได้แก่ อาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่าย หรือเซื่องซีม มือเท้าเย็นพร้อมๆ กับไข้ลด หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเกิดอาการเช่นนี้ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
ถ้อยคำถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 26 มีนาคม 2562
ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5